เกาะคิวชู – ไฮกุ สาเก ม้าดิบ ซามูไรหัวแข็ง

ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาที่เกาะคิวชู เพื่อหาโอกาสลิ้มรสเนื้อม้าดิบ สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่ไม่กินเนื้อม้าดิบเกาะคิวชูยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าเดินทางท่องเที่ยว มีอาหารญี่ปุ่นอร่อย ๆ ปรุงด้วยวิธีดั้งเดิม

0
3033

พวกเรากำลังกินอาหารกลางวันอย่างเอร็ดอร่อยในร้านอาหารญี่ปุ่นใกล้ ๆ ปราสาทคุมาโมโต้  ชุดอาหารกลางวันแบบเบนโตะชุดเล็ก ๆ ง่าย ๆ  ประกอบไปด้วยไข่ตุ๋น ปลาทอด ผักดอง ซุปมิโซะอร่อยมาก พวกเรากินกันจนเกลี้ยงชามจากนั้นผมก็เริ่มมองหาพุดดิ้งและกาแฟเอสเพรซโซ่มาล้างคอ เตรียมตัวตะลุยเที่ยวเกาะคิวชูกันต่อ ณ วินาทีนี้ไม่มีใครสักคนคิดถึงเนื้อม้า จนกระทั่งพนักงานในร้านอาหารนำอาหารจานเล็ก ๆ มีแผ่นเนื้อบาง ๆ สีแดงสดมาวางที่โต๊ะ

“บาซาชิ”  พนักงานสาวชาวญี่ปุ่นพูด 3 คำหลังจากวางอาหารจานปริศนาไว้บนโต๊ะ

บาซาชิ คืออะไรหรือ ภาษาอังกฤษของพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารดีพอ ๆ กับภาษาญี่ปุ่นของผม เราคุยกันไม่รู้เรื่อง ผมต้องหันหน้าไปหาคุณมี่ ขอพึ่งไกด์ชาวไทยที่มาดูแลผมและกลุ่มคนไทยที่เดินทางมาเที่ยวทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น

“ม้าดิบค่ะ ฮอร์ส ซาชิมิ” คุณมี่พูดด้วยสีหน้าเฉย ๆ เหมือนกับกำลังพูดถึงข้าวเหนียวมะม่วง เธอทำราวกับว่าเนื้อม้าดิบเป็นอาหารจานธรรมดาเสียเหลือเกิน จากนั้นเธอก็เลื่อนจานม้าเข้ามาใกล้ ๆ ผม

ม้าดิบ
บาซาชิ หรือม้าดิบ อาหารขึ้นชื่อในเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ภาพ/พูวดล ดวงมี

ผมรู้สึกว่าน้ำลายติดคอ กลืนไม่เข้า นึกถึงกรุงเทพฯ ที่เมืองไทยเราไม่กินเนื้อม้าถึงแม้ว่าจะมีบางคนเคยลองกิน  แต่ก็คงไม่มีใครกินเนื้อม้าดิบ ๆ เหมือนที่เกาะคิวชู ผมขยับเข้าไปใกล้ ๆ พิจารณาจานม้าดิบ มองดูเนื้อแดง ๆ ฝานเป็นแผ่นบาง ๆ สีแดงสดใสบ่งบอกว่าเนื้อม้าเขาสดจริง ๆ  เชฟโรยต้นหอมซอยสีเขียวสดเพื่อแต่งหน้า ทำให้ชวนกิน ข้าง ๆ มีขิงสดบดละเอียด หอมแดงฝานบางและก้อนวาซาบิ  มีถ้วยโชยุกับหัวไชเท้าบดละเอียดวางข้าง ๆ จานม้า โดยรวมเป็นจานที่น่ากินกว่าลาบเลือดที่เมืองไทยเยอะ แต่เพื่อน ๆ ที่นั่งกินข้าวอยู่ด้วยกันไม่มีใครอยากชิมเลยสักคน ทุกคนวางช้อน คว้ากล้องถ่ายรูป แล้วพากันมองมาที่นักท่องเที่ยวใจกล้าจากเมืองบางกอกอย่างผม

“เอาวะนี่ไม่ใช่ม้าตัวแรกที่เราเคยกิน นึกเสียว่ากินม้าดิบเป็นของหวาน” ผมคิดอย่างคะนองอยู่ในใจ เมื่อเห็นเพื่อนร่วมทางชาวไทยพากันส่ายหน้า

ผมหยิบตะเกียบคีบเนื้อม้ามา 1 ชิ้น ค่อย ๆ บรรจงใส่ปาก คาดหวังอะไรไม่ได้เลย เพราะนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าเนื้อม้าดิบรสชาติเป็นอย่างไร

จริง ๆ แล้ว “ฮอร์ส ซาชิมิ” รสชาติไม่เลว ดีพอ ๆ กับหน้าตา ผมจิ้มม้าดิบกับซอสโชยุ ส่งเข้าปากเป็นคำที่สอง เนื้อม้าดิบนิ่มกว่าที่คิดเอาไว้ รสสัมผัสในปากจะเย็น ๆ ลื่น ๆเหมือนมีเมือก เอาเข้าจริง ๆ รสชาติดีกว่าเนื้อม้าต้มจืด ๆ สีขาวซีด ที่ผมเคยกินที่ประเทศคาซัคสถาน และดีกว่าเนื้อม้าหั่นเป็นลูกเต๋าชิ้นเล็ก ๆ ที่ไกด์เวียดนามต้มใส่มาม่าให้ผมกินในหมู่บ้านชาวเขาที่ซาป้า ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม

“โออิชิ เดสึกะ?” พนักงานเสิร์ฟ ทำท่าทางตื่นเต้นกับทัวร์ริสต์ใจกล้า ผู้อาสากินม้าเนื้อดิบแทนเพื่อน ๆ เธออดรนทนไม่ได้ ถามด้วยความอยากรู้ว่าม้าอร่อยถูกปากผมหรือเปล่า

“ฮี้ ๆ ๆ”  ผมฉีกยิ้มกว้างสุดจนปากเกือบถึงหู พร้อมส่งเสียงร้องคึกคักเหมือนม้าตัวผู้ ทำเอาพนักงานสาวชาวญี่ปุ่นผงะ ก่อนพากันหัวเราะเสียงลั่นร้าน

คุมาโมโต้
เดอะ ลาส ซามูไร: คนญี่ปุ่นสวมชุดซามูไร เดินในตลาดข้าง ๆ ปราสาทสีดำของเมืองคุมาโมโต้ ภาพ/พูวดล ดวงมี

เกาะคิวชูตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ เกาะนี้เป็นที่ตั้งของเมืองหลายเมืองที่ชื่อคุ้นหูคนไทย เช่น ฟูกูโอกะ นางาซากิ คุมาโมโต้ โออิตะ มิยาซากิและคาโกชิมา เนื้อม้าดิบเป็นอาหารขึ้นชื่อของเกาะคิวชู ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเดินทางมาที่เกาะคิวชู เพื่อที่จะได้มีโอกาสลิ้มรสเนื้อม้าดิบ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่ส่ายหน้าให้จานม้าดิบ ไม่ต้องตกใจ เกาะคิวชูยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าเดินทางท่องเที่ยว และที่โด่งดังมากที่สุดในหมู่คนไทยคงไม่พ้นคุมะมงตัวการ์ตูนหมีตัวดำรอบปากขาว แก้มแดง น่ารักถูกใจวัยรุ่น

นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเที่ยวปราสาทสีดำของเมืองคุมาโมโต้ ปราสาทหลังนี้เคยใช้ประกอบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง “เดอะ ลาส ซามูไร” ( The Last Samurai) โดยมีทอม ครูซ รับบทเป็นร้อยเอกเนธาน อัลเกร็น ผู้รับงานฝึกซามูไรในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงการฟื้นฟูราชวงศ์เมจิ ราว ๆ คริสต์ศตวรรษที่ 19  หรือช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นเปิดรับความรู้และเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก

คุมาโมโต้
ปราสาทคุมาโมโต้เคยใช้ประกอบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง “เดอะ ลาส ซามูไร” ( The Last Samurai) โดยมีทอม ครูซ รับบทเป็นร้อยเอกเนธาน อัลเกร็น ผู้รับงานฝึกซามูไรในประเทศญี่ปุ่น

ตัวปราสาทสีดำอายุประมาณ 400 ปี ตั้งอยู่บนเนินสูง ๆ เราสามารถมองเห็นยอดปราสาทได้ในระยะไกล นับเป็นที่หมายหรือ “แลนด์มาร์ก”  (land mark) สำคัญของเมืองคุมาโมโต้ และเป็น 1 ใน 3 ปราสาทสำคัญที่สุดของประเทศญี่ปุ่น  ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประเทศญี่ปุ่นนำโดยรัฐบาลใหม่ของสมเด็จพระจักรพรรดิ  ได้ชิงอำนาจคืนจากรัฐบาลทหารโชกุนโทะกุงะวะ ทำการปฏิรูปโครงสร้างทหาร นักรบ และซามูไร พร้อม ๆ ไปกับการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นตามชาติตะวันตก โดยนำอาวุธปืนสมัยใหม่มาใช้แทนดาบ จัดตั้งกองทัพที่ทันสมัยแทนการผูกขาดด้วยชนชั้นนักรบเดิมคือซามูไร ซึ่งตอนนั้นมีจำนวนเกือบ 2 ล้านคน การเปลี่ยนแปลงในยุคฟื้นฟูราชวงศ์เมจิสร้างความไม่พอใจให้ชนชั้นซามูไรเป็นอย่างมาก

สมัยนั้นเมืองคุมาโมโต้วางตัวอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาลใหม่ของสมเด็จพระจักรพรรดิ  ทำให้รัฐบาลกลางต้องยกกองทัพมาปราบ ซึ่งในขณะนั้นทางคุมาโมโต้มีซามูไร นักรบฝีมือเยี่ยมอย่างไซโกะ ทาคาโมริ (SaigoTakamori) เป็นผู้นำทัพและปลุกระดมผู้คนในเกาะคิวชูให้ลุกขึ้นต่อต้านและทำตัวเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลใหม่  ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองไซนาน (Seinan Civil War) สุดท้ายกองทัพของรัฐบาลกลางเป็นฝ่ายชนะ เนื่องจากได้เปรียบทางด้านอาวุธสมัยใหม่  ในภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ ลาส ซามูไร” เราจะเห็นนักรบซามูไรถูกยิงด้วยปืนกล ล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง  การต่อสู้ครั้งนั้นทำให้ปราสาทคุมาโมโต้ถูกทำลายอย่างย่อยยับจนกระทั่งตัวปราสาทถูกไฟไหม้พังทลายลงในปี ค.ศ.1877

ปราสาทสีดำที่นักท่องเที่ยวเห็นทุกวันนี้ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปี ค.ศ.1960 ประกอบไปด้วยตัวปราสาท 2 หลัง ปราสาทหลังหลักนั้นมี 6 ชั้น ส่วนปราสาทหลังรองนั้นมี 4 ชั้น ด้านบนของปราสาททั้งสองหลังนั้นเป็นหอสังเกตการณ์ที่สามารถมองเห็นวิวเมืองคุมาโมโต้ในมุมสูงได้โดยรอบ ซึ่งปัจจุบันนั้นถือว่าเป็นจุดชมวิวเมืองที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง นักท่องเที่ยวสามารถเดินรอบ ๆ ปราสาทเพื่อชมสวน ถ่ายรูปปราสาทในมุมที่สวยแตกต่างกันไป ปราสาทคุมาโมโต้จะสวยเป็นพิเศษในช่วงดอกซากุระบาน ดอกไม้ชมพูบานสะพรั่ง แม้นร่วงหล่นลงพื้นก็ยังดูสวยงาม เปรียบเสมือนความสง่างามของนักรบซามูไรที่สละชีพในสนามรบอย่างไม่อาลัยอาวรณ์

เราเดินทางออกจากปราสาทสีดำ มุ่งหน้าออกสู่เขตชนบทของจังหวัดคุมาโมโต้ เพื่อไปดูของร้อน นั่นก็คือปล่องภูเขาไฟนาคาดาเกะที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในเกาะคิวชู

นาคาดาเกะ
นักท่องเที่ยวเดินดูปล่องภูเขาไฟนาคาดาเกะ ที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในเกาะคิวชู ภาพ/พูวดล ดวงมี

ภูเขาไฟอะโซะมีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 1500 เมตร ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 กิโลเมตร นับได้ว่าเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รอบ ๆ ภูเขาไฟมีเมืองเล็กๆและนาข้าว กระจายอยู่รอบ ๆ ตัวภูเขาไฟ ในช่วงเวลาที่รถวิ่งลัดเลาะขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อพานักท่องเที่ยวไปปากปล่องภูเขาไฟนาคาดาเกะ (nakadake) เราสามารถมองเห็นทุ่งกว้าง ๆ ที่ปกคลุมไปด้วยทุ่งหญ้า มองเห็นวัวและม้าเดินเล็มหญ้า มีจุดพักรถข้างทาง พวกเราพากันแวะเดินสูดอากาศ หาซื้อขนมกิน ไอศกรีมนมสดแถว ๆ ภูเขาไฟอะโซะรสชาติอร่อยมาก

นักท่องเที่ยวที่ต้องการชมปล่องภูเขาไฟควรตรวจสอบสถานะของปล่องภูเขาไฟก่อน  ในวันที่มีปริมาณก๊าซออกมาจากปล่องภูเขาไฟมากเกินหรือมีความเสี่ยงว่าอาจจะปะทุขึ้นมา นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าชมปากปล่องภูเขาไฟได้  อีกอย่างหนึ่งก็คือผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจควรหลีกเลี่ยง  พวกเราเดินทางมาถึงสถานีกระเช้าไฟฟ้าประมาณ 4 โมงเย็น ขณะที่เดินอยู่บนลานจอดรถข้าง ๆ สถานีกระเช้าไฟฟ้า เราได้กลิ่นกำมะถันลอยมาจากปากปล่องภูเขาไฟที่อยู่ไกลหลายกิโลเมตร

ปากปล่องภูเขาไฟนาคาดาเกะ (Nakadake Crater) เป็นปากปล่องภูเขาไฟที่ยังไม่ดับที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  นักท่องเที่ยวสามารถเดินวนรอบ ๆ ปากปล่องภูเขาไฟได้ เลยขอบปล่องภูเขาไฟออกไปคือหลุมขนาดใหญ่ ลึกเกิน 100 เมตรที่ก้นหลุมมีลาวาเหลว ๆ เดือดปุด ๆ ส่งกลุ่มก๊าซสีขาวพวยพุ่งออกมาเป็นระยะ เราใช้เวลาอยู่ที่ปากปล่องภูเขาไฟประมาณ 15 นาที เพื่อเดินถ่ายรูปและชมทิวทัศน์รอบ ๆ ภูเขาไฟ จากนั้นก็พากันลงจากปากปล่อง เพราะรู้สึกแสบจมูกจากกลิ่นกำมะถัน

เหล้าสาเก: คนญี่ปุ่นบนเกาะคิวชูนิยมเดิมเหล้าสาเกและเหล้าขาวโซจู ภาพ/พูวดล ดวงมี

สำหรับคืนแรกในเกาะคิวชูเราพักกันที่ “อะโซะ พลาซ่า” โรงแรมญี่ปุ่นแบบ “เรียวกัง” คือเป็นโรงแรมเล็ก ๆ ไม่หรูหรา แต่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น โรงแรมมีชุดยูกาตะเอาไว้ให้สวมใส่สำหรับไปแช่น้ำอุ่นหรือออนเซ็น คืนนี้ผมนอนกับพี่พจน์ นักเขียนจากค่ายเดียวกัน เรามีนิสัยบางอย่างคล้ายกัน เช่น ชอบแมว ชอบดื่มเบียร์ พี่พจน์เป็นคนชอบแต่งกลอน ที่สำคัญเรามีความเห็นตรงกันว่าจะไม่ไปแก้ผ้าแช่ออนเซ็น

“พี่ไม่อยากไปนั่งแก้ผ้า ดู “ซามูไร” ญี่ปุ่น สู้นั่งซดสาเกแล้วร่ายไฮกุกันดีกว่า”  พี่พจน์เอ่ยปาก

ผมไม่มีอะไรจะค้าน เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ ให้เลือกระหว่างนั่งดูผู้ชายแก้ผ้าอาบน้ำกับนั่งดื่มสาเกกับกวี ผมตัดสินใจได้ง่ายมาก

“คิวชู คิวชู ซามูไรหัวแข็ง ปราสาทสีดำ ม้าดิบ” พี่พจน์นั่งด้นไฮกุอยู่คนเดียว สลับกับการยกแก้วสาเกขึ้นดื่ม แล้วหันมาขอความเห็นจากเพื่อนร่วมวงอย่างผม  ผมอยากนั่งฟังพี่พจน์แต่งไฮกุจนจบ แต่ฤทธิ์ของสาเกเย็น 1 ขวดใหญ่ทำให้ผมหลับไปก่อน

ตอนเช้าเราเห็นนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นพากันสวมชุดยูกาตะออกไปอาบน้ำแร่กันทุกคน แต่ “มนุษย์ไทย” อย่างเราเห็นแล้วเฉย ๆ ต่อให้ซัดสาเกไป 2 ขวดก็ยังแก้ผ้าอาบน้ำอุ่นกับเขาไม่ได้ ผมกับพี่พจน์พากันออกไปเดินเล่นข้าง ๆ โรงแรม สำรวจชนบทของประเทศญี่ปุ่น

อะโซะ
ชานเมืองอะโซะ ภาพ/พูวดล ดวงมี

ช่วงเช้าที่ชานเมืองอะโซะอากาศสดชื่นดีมาก พื้นที่ริมถนนส่วนใหญ่เป็นทุ่ง สลับกับร้านบะหมี่ ร้านกาแฟ อู่ซ่อมสีรถยนต์ ร้านขนมปัง บรรยากาศเงียบ ๆ เราเดินชมทุ่งญี่ปุ่นอยู่พักหนึ่งแล้วก็พากันกลับเตรียมตัวออกเดินทางเที่ยวกันต่อ

“จุดหมายปลายทางในวันนี้คือเมืองยูฟูอิน” คุณมี่ไกด์สาวชาวไทย แจ้งให้ทุกคนทราบ

เมืองยูฟูอิน (Yufuin) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะคิวชู เมืองเล็กๆ ห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์มองเห็นทิวเขาโอบกอดเมืองยูฟูอินอยู่ไกล ๆ ลำธารสายเล็ก ๆ ไหลมารวมกันที่ทะเลสาบกลางเมือง สมัยก่อนการเดินทางมาเมืองยูฟูอินค่อนข้างยาก ทำให้เมืองนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก หลังจากที่มีรถไฟความเร็วสูงวิ่งเชื่อมต่อมายังเกาะคิวชู การเดินทางมาที่เมืองเล็กในหุบเขาแห่งนี้ก็สะดวกขึ้นมาก ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเที่ยวเมืองยูฟูอิน

ยูฟูอิน
ตุ๊กตาหินวางขายให้นักท่องเที่ยวที่เมืองยูฟูอิน ภาพ/พูวดล ดวงมี

พวกเราเดินทางมาถึงยูฟูอินตอนบ่าย ผมรู้สึกชอบเมืองนี้ตั้งแต่แรกเห็น ยูฟูอินเต็มไปด้วยร้านขายของเล็ก ๆ ขายงานศิลปะ งานที่ทำจากมือ เช่นเครื่องเซรามิก ถ้วยชา ถ้วยกาแฟสวย ๆ ทำจากดินเผา ผ้าย้อมคราม งานไม้ มีร้านขายของที่ระลึกมากมายพอ ๆ กับร้านอาหาร ตกแต่งสวย ๆ น่ารัก เรียบง่ายแบบญี่ปุ่น เมื่อได้เห็นยูฟูอินทำให้นึกถึงปาย ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะบรรยากาศคล้าย ๆ กัน ในด้านที่เป็นเมืองที่คนชื่นชมศิลปะ แต่ยูฟูอินพัฒนาไปได้ไกลกว่าปายในด้านท่องเที่ยว ทุก ๆ ปีคนญี่ปุ่นจะพากันมาสัมผัสบรรยากาศชนบทของยูฟูอิน พวกเขาชอบเข้าพักในโรงแรมเล็ก ๆ เหมือนโรงเตี้ยม แล้วพากันไปแช่น้ำอุ่น สำหรับคนไทยที่ไม่ชอบเปลื้องผ้าอาบน้ำในที่สาธารณะ ก็สามารถท่องเที่ยวหาความเพลิดเพลินได้จากอาหารญี่ปุ่นรสชาติดั้งเดิมที่แสนอร่อย หรืออาจจะเดินถ่ายรูปสลับกับการแวะชิมขนมจากร้านเล็ก ๆ ที่ตั้งเรียงรายไปทั้งเมือง หรือแม้กระทั่งปั่นรถจักรยาน ลัดเลาะไปตามท้องนา เพลิดเพลินกับบรรยากาศชนบทของยูฟูอิน

แต่น่าเสียดายพวกเราไม่ได้พักค้างคืนที่ยูฟูอิน ที่พักของเราคืนนี้อยู่ที่เมืองเบปปุเมืองชายทะเลที่อยู่ห่างจากยูฟูอินประมาณ 30 กิโลเมตร

อุมิจิโกกุ
“อุมิจิโกกุ” (Umijigoku) หรือรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งคือ “นรกของเบปปุ” (Hell of Bebpu) เป็น 1 ใน 3 บ่อน้ำร้อนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น

แม้ว่าเบปปุ (Bebbu) จะตั้งอยู่ริมทะเล แต่บรรยากาศที่เต็มไปด้วยควัน ที่พวยพุ่งมาจากท่อระบายน้ำและพื้นดิน ชวนให้คิดไปว่าเมืองเบปปุตั้งอยู่บนบ่อน้ำแร่ขนาดมหึมา เราไม่สงสัยเลยว่าเมืองเบปปุมีชื่อเสียงด้านออนเซ็น ทั่วทั้งเมืองมีบ่อน้ำร้อนมากมายให้นักท่องเที่ยวเลือก มีทั้งบ่อน้ำร้อนที่อยู่ในโรงแรมและรีสอร์ท จนถึงบ่อน้ำร้อนที่อยู่ในสวนสาธารณะ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปแช่น้ำอุ่น

แหล่งท่องเที่ยวที่คนนิยมแวะไปเที่ยวกันคือ “อุมิจิโกกุ” (Umijigoku) หรือรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งคือ “นรกของเบปปุ” (Hell of Bebpu) เป็น 1 ใน 3 บ่อน้ำร้อนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น บ่อน้ำขนาดใหญ่ สีฟ้าใส มองดูเหมือนจะเย็นสบายดี แต่กลุ่มก๊าซที่พวยพุ่งออกมาประกอบกับกลิ่นของกำมะถัน ทำให้คิดถึงกระทะทองแดงในนรกอวจี อย่างไรก็ตามความสวยงามของ “นรก” ก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาท่องเที่ยวที่เบปปุ

นอกจากการแช่น้ำอุ่น นักท่องเที่ยวสามารถทดลองลวกผัก ทำไข่ลวกจากการนำอาหารไปแช่ในน้ำร้อน พวกเราทดลองนำหัวมัน เห็ดหอม ข้าวโพดไปนึ่งกับไอร้อนที่พุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน เมื่อผักสุกก็นำมากินกับน้ำจิ้มสุกี้ อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง

การแช่ทรายอุ่นทำกันง่าย ๆ คือเราเข้าไปเปลี่ยนชุดเป็นชุดยูกาตะ แล้วก็เข้าไปบริเวณพื้นที่ที่เราจะทำการแช่ทรายร้อนได้เลย โดยนอนราบกับพื้นทราย เจ้าหน้าที่จะช่วยโกยทรายมาถมตัวเราทั้งตัว ภาพ/พูวดล ดวงมี

เบปปุยังมีชื่อเสียงเรื่อง “นอนแช่ทราย” (sand onsen) ริมชายทะเล

พื้นที่ทางด้านใต้ของเกาะคิวชูตั้งอยู่ใกล้ภูเขาไฟมากทำให้ทรายที่ริมชายหาดของเบปปุมีความร้อน ยิ่งขุดลงลึกมากยิ่งร้อนมาก คนในเมืองเบปปุเชื่อว่าทรายที่ได้รับความร้อนจากภูเขาไฟ มีแร่ธาตุและวิตามินมากมาย นอกจากจะทำให้ผิวสวยสุขภาพดีแล้วยังมีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพหลายด้าน ทำให้ชาวเมืองในแถบนี้นิยมแช่ทรายร้อนกันมาก

วิธีการแช่ทรายก็ทำกันง่าย ๆ คือเราเข้าไปเปลี่ยนชุดเป็นชุดยูกาตะ (อย่าลืมสวมกางเกงในกระดาษด้วยนะ มิฉะนั้นลำบากแน่ทัวร์ริสต์ทั้งหลาย) แล้วก็เข้าไปบริเวณพื้นที่ที่เราจะทำการแช่ทรายร้อนได้เลย โดยนอนราบกับพื้นทราย เจ้าหน้าที่จะช่วยโกยทรายมาถมตัวเราทั้งตัว ยกเว้นส่วนหัวที่ต้องเก็บไว้หายใจ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นฝังทั้งเป็น สักพักหนึ่งเหงื่อจะเริ่มไหลชุ่มไปทั่วตัว คนที่ชอบแช่ทรายร้อนเชื่อว่าความร้อนช่วยให้ระบบภายในดีขึ้น เช่น ช่วยเรื่องระบบหมุนเวียนเลือด รักษาโรคผิวหนัง โรคไขข้ออักเสบ และอาการปวดเมื่อย แต่สิ่งที่เห็นเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุดคือ ช่วยลดน้ำหนัก หลังจากแช่ทรายร้อนเราจะรู้สึกว่าตัวเบาหวิว

คืนนี้เรานอนโรงแรมแบบ “เรียวกัง” เหมือนเดิม โรงแรมเป็นตึกสูง ๆ ตั้งอยู่ริมทะเล อาหารมื้อเย็นเป็นบุฟเฟ่ต์  อร่อยทุกอย่าง ที่สำคัญคือมีเบียร์สดด้วย ถูกใจผมกับพี่พจน์มาก ข้าง ๆ โรงแรมของเราเป็นสวนสาธารณะ เลยออกไปอีกนิดหนึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ผมกับพี่พจน์นึกไม่ออกว่าอยากได้อะไรจากห้างฯ เราพากันเดินไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ชั้นใต้ดิน แล้วหยุดที่แผนกสบู่

เบปปุ
เบปปุ (Bebbu) เต็มไปด้วยควันจากน้ำอุ่น พวยพุ่งมาจากท่อระบายน้ำและพื้นดิน ทำให้เมืองเบปปุมีชื่อเสียงด้านออนเซ็น ภาพ/พูวดล ดวงมี

“ผมเป็นคนแปลก” พี่พจน์เอ่ยขึ้น  ในระหว่างที่กำลังก้ม ๆ เงย ๆ หยิบก้อนสบู่อาบน้ำมาดม ๆ แล้วก็วางไว้ที่เก่า “เวลาผมไปต่างประเทศ ผมชอบซื้อสบู่อาบน้ำกลับบ้าน”

“พูรู้หรือเปล่า? คนแต่ละประเทศมีกลิ่นกายไม่เหมือนกัน เวลาผมอาบน้ำ ตอนถูตัวด้วยสบู่ที่ซื้อมาจากที่ต่าง ๆ ผมนึกถึงเวลาที่ผมได้ท่องเที่ยวอยู่ที่ประเทศนั้น”

ผมเม้มปาก พร้อม ๆ กับพยักหน้าหงึกหงักก่อนปล่อยให้พี่พจน์หมกมุ่นอยู่กลิ่นของคนญี่ปุ่น ก่อนขอตัวไปสำรวจแผนกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผมไม่เคยซื้อสบู่กลับบ้าน

ข้อมูลการเดินทาง

การบินไทยให้บริการเที่ยวบินตรงทุกวัน  ในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯและฟูกุโอกะ โดยให้บริการบนเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A330  ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ก่อนที่เครื่องจะลงจอดที่สนามบินในเมืองฟูกุโอกะ ที่เวลาประมาณ 07.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น