ช่วงเมษายนของทุกปี เอื้องคำจะออกดอกสีเหลืองในป่ากลางหุบเขาของแม่ฮ่องสอน เหมือนต้องการส่งสัญญาณธรรมชาติบอกคนไทใหญ่ว่างานบุญใหญ่ของพวกเขากำลังจะเวียนมาถึง ชาวไทใหญ่จะนำเด็กผู้ชายอายุระหว่าง 7-15 ปี เข้าร่วมงานประเพณีปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้ว เช่นเดียวกับดอกเอื้องคำสีเหลืองสดที่ออกมาสร้างสีสันในป่ายามหน้าแล้ง งานปอยส่างลองที่เปี่ยมไปด้วยสีสันมลังเมลืองช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้แม่ฮ่องสอนในช่วงฤดูร้อน

ประเพณีปอยส่างลองจัดขึ้นในชุมชนไทใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สะเรียง ขุนยวม เมืองแม่ฮ่องสอน ปาย และปางมะผ้า โดยผลัดเปลี่ยนกันจัดตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมไปถึงกลางเดือนเมษายน ปอยส่างลองจะจัดกัน 4 วัน เริ่มจากวันแรกที่ทุกคนพร้อมใจกันตื่นแต่เช้ามืดมาแต่งองค์ทรงเครื่องให้ส่างลอง เฉลิมฉลองกันในวันที่สองและสาม จนกระทั่งได้เห็นส่างลองเป็นสามเณรน้อยในวันที่สี่ของงาน

ครั้งนี้ “บางกอกบิ๊กเอียร์ส” พาไปชมงานปอยส่างลองที่บ้านผาบ่อง หมู่บ้านไทใหญ่ในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ที่มีความโดดเด่นทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทางชุมชนได้จัดงานขึ้นที่วัดผาบ่องเหนือและวัดผาบ่องใต้ โดยให้ “วัดใต้” เป็นที่ตั้งขบวนแห่ปอยส่างลอง ก่อนพากันเดินบนถนนเส้นหลัก ผ่านชุมชนไทใหญ่ เพื่อมาทำพิธีบวชที่ “วัดเหนือ”

ในวันแรกเราลุกขึ้นมาตอนตีสี่ เพื่อเข้าชมพิธีการแต่งหน้าส่างลองที่วัดผาบ่องเหนือ ถือว่าเป็นการเริ่มงานตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง เนื่องจากชาวไทใหญ่ถือฤกษ์เดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ โคตมะ ที่เข้าสู่สมณเพศตอนเช้าตรู่ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเราเดินทางมาถึงวัดตอนตีสี่ครึ่ง ศาลาวัดเต็มไปด้วยชาวไทใหญ่ ทั้งเด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ จึงได้เห็นว่าพวกเขากำลังนั่งล้อมวงแต่งหน้าให้เด็กผู้ชายที่กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นส่างลอง

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ชินกับงานประเพณีปอยส่างลองจะอึ้งไปครู่หนึ่ง เมื่อเห็นช่างแต่งหน้ากำลังทาแป้งลงรองพื้น เขียนคิ้ว ทาปากให้เด็กน้อยเหมือนกับว่ากำลังจะไปเล่นลิเก แต่เมื่อได้นั่งคุยกับชาวไทใหญ่ก็เริ่มเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ใต้ริมฝีปากสีแดงชาด

หญิงชราท่าทางใจดีชาวไทใหญ่ นั่งจัดดอกไม้ใหนักท่องเที่ยวดูที่ลานวัฒนธรรม "สะพานข้าว" ที่บ้านผาบ่อง
หญิงชราชาวไทใหญ่ท่าทางใจดี นั่งจัดดอกไม้ให้นักท่องเที่ยวชมบริเวณลานวัฒนธรรม “สะพานข้าว” บ้านผาบ่อง (ภาพ: พูวดล ดวงมี)

“คนไทใหญ่เชื่อว่าส่างลองมีรูปกายสวยงามดุจเทวดา เราจึงพยายามแต่งหน้าให้สางลอง หาชุดและสวมหมวกให้ส่างลอง” โสภิณ แก่นตัน ชาวไทใหญ่ที่ได้รับความนับถือว่าเป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” รอบรู้วัฒนธรรมไทใหญ่ เล่าให้เราฟังเรื่องการแต่งหน้าส่างลอง  จริง ๆ แล้วสมัยก่อนไม่ได้มีการ “จัดเต็ม” กันแบบนี้  เพียงแค่ทาหน้าด้วยแป้งฝุ่น และประแป้งทานาคาให้เป็นรูปเหมือนดอกกระแจะก็ใช้ได้แล้ว

ลุงโสภิณเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า สมัยก่อนคนไทใหญ่จะใช้ดอกเอื้องคำ ดอกกล้วยไม้ป่าที่ออกดอกช่วงเดือนเมษายน มาประดับหมวกส่างลอง นอกจากดอกไม้ป่ายังมีมวยผมของผู้หญิงไทใหญ่ประดับที่หมวกส่างลอง

“ผู้หญิงไทใหญ่ส่วนใหญ่ไว้ผมยาว หลังจากตัดผมผู้หญิงบางคนนำเส้นผมไปทำความสะอาดแล้วห่อเก็บไว้อย่างดี ด้วยความที่ผู้หญิงเขาไม่สามารถบวชได้  เมื่อถึงช่วงงานปอยส่างลอง มีงานบวชลูกแก้ว เขาจะนำเส้นผมออกมาจากห่อ แล้วม้วนเป็นก้อนกลม ๆ  เพื่อประดับหมวกส่างลอง ด้วยวิธีนี้พวกเราชาวไทใหญ่เชื่อกันว่าผู้หญิงจะได้รับบุญกุศลเหมือนกับการได้บวชเป็นส่างลอง”

– โสภิณ แก่นตัน ผู้อาวุโสชาวไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอน

ปัจจุบัน คนไทใหญ่หันมานิยมใช้หมวกสำเร็จรูปประดับด้วยดอกไม้พลาสติก เหมือนกับคนหลายๆ กลุ่มที่ยอมจำนนต่อความสะดวกสบาย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากมีการนำดอกเอื้องสด ๆ กลับมาประดับเหมือนในอดีต หมวกส่างลองคงจะสวยงามเป็นธรรมชาติมากกว่านี้  ทุกวันนี้ ชาวไทใหญ่ให้ความสำคัญกับการจ้างช่างแต่งหน้ามืออาชีพ และกังวลกับการแสดงฐานะด้วยการจัดหาเครื่องประดับและของมีค่ามาประดับบนตัวส่างลอง ปล่อยให้ความสวยงามจากความเรียบง่ายเสื่อมความนิยมไป

ปอยส่างลอง
ขบวนแห่ส่างลองเดินข้ามสะพานไม้ที่ลานวัฒนธรรม บ้านผาบอง (ภาพ: พูวดล ดวงมี)

เมื่อช่างแต่งหน้าทำการแต่งแต้มสีสันลงบนใบหน้าส่างลองเสร็จ การแต่งองค์ทรงเครื่องก็เสร็จสิ้น เด็กไทใหญ่ตัวน้อย ๆ ที่เมื่อวานอาจจะวิ่งเล่นซุกซนอยู่กับเพื่อน เวลานี้ก็ได้รับการแปลงโฉม มีรูปกายสวยงามสมใจนึก อย่างน้อยที่สุดก็ดูโดดเด่นขึ้นกับชุดสีสันสดใส ระยิบระยับจับใจ แต่ละคนสวมหมวกมีปีกและดอกไม้ประดับห้อยระย้า มองดูผาด ๆ เหมือนเจ้าชายองค์น้อย ๆ  ในนิทานสมัยก่อน

“ปอยส่างลอง” เป็นภาษาไทใหญ่ เกิดจากคำ 3 คำ คือ คำว่า “ปอย” แปลว่า “งาน” คำว่า “ส่าง” มาจากคำว่า “เจ้าส่าง” หมายถึงสามเณร ส่วนคำว่า “ลอง” มาจากคำว่า “อลอง” แปลว่า พระโพธิสัตว์ หรือหน่อพุทธางกูร ดังนั้นชาวไทใหญ่จึงนิยมแต่งให้ส่างลองสวยงามเหมือนพระโพธิสัตว์

งานปอยส่างลองจัดขึ้นทั้งหมด 4 วัน วันแรกเป็นวันรับส่างลอง วันที่สองเป็นวัน “ข่ามแขก” หรือวันจัดงานเลี้ยงให้แขกที่มาแสดงความยินดีที่บ้านส่างลอง วันที่สามเป็นวันแห่โคหลู่ หรือคัวหลู่ คือ การแห่เครื่องไทยธรรมสำหรับถวายพระที่วัด วันสุดท้ายเป็นวันบวช หรือวันหลู่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมงานปอยส่างลองจะตื่นตาตื่นใจกับวันแรกและวันที่สาม เนื่องจากได้เห็นสีสันละลานตาจากขบวนแห่ส่างลอง

ข้าวตอกดอไม้
ชาวไทใหญ่เตรียมข้าวตอกดอกไม้รอโปรยรับขบวนแห่ส่างลอง ที่บ้านผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน (ภาพ: พูวดล ดวงมี)

ในวันที่สาม เสียงฆ้อง กลอง และฉาบดังมาจากทางวัดผาบ่องใต้ ผู้หญิงไทใหญ่แต่งตัวสวยด้วยชุดพื้นเมือง พากันเดินไปที่วัดเพื่อตั้งขบวนแห่โคหลู่ หรือ การแห่เครื่องไทยธรรม สาวไทใหญ่สร้างสีสันไม่แพ้ชุดของส่างลอง แต่ละคนแต่งตัวด้วยผ้านุ่งพอดีตัว เสื้อแขนกระบอก และหมวกสานแบบไทใหญ่ เราหันมองไปทางไหนก็เห็นชาวบ้านจับกลุ่มฟ้อนรำกันสนุกสนาน ชายหนุ่มบางคู่พากันเล่น “ฟ้อนเจิง” เรียกเสียงเชียร์และเสียงหัวเราะขบขันจากเพื่อนร่วมขบวน

ขบวนแห่โคหลู่ประกอบด้วยจีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมือง ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์  ปุ๊กข้าวแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทอง อู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง

ม้าเจ้าเมือง
ม้าเจ้าเมืองเดินนำขบวนแห่โคหลู่ ในวันที่สามของงานประเพณีปอยส่างลอง บ้านผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน (ภาพ: พูวดล ดวงมี)

“ม้าตัวนี้เป็นม้าเจ้าเมือง” ชายสูงวัยชาวไทใหญ่ ชี้ให้ผมดูม้าสีน้ำตาลที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ ตัว “เมื่อเช้าผมตื่นแต่เช้า เพื่อไปอัญเชิญเจ้าเมืองที่ศาลประจำหมู่บ้านมาทรงม้านำขบวน”

ม้าพันธุ์พื้นเมืองสีน้ำตาลเข้มยืนอยู่เงียบ ๆ ไม่ตื่นตกใจกับเสียงกลองที่ดังมาจากทุกทิศทาง ชาวบ้านตกแต่งม้าด้วยพู่สีและดอกไม้พลาสติก ใช้ผ้าสีน้ำตาลผืนใหญ่พับปิดทับอานอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้นั่งสบาย มีกรวยดอกไม้เล็ก ๆ ห่อด้วยใบตองสดเหน็บอยู่กับเชือกผูกอานม้า บนอานม้าไม่มีเจ้าเมืองให้เห็น  มีเพียงข้าวตอกสีขาวกับดอกกระดังงาที่ทิ้งเอาไว้เป็นปริศนา หรือไม่ก็ทิ้งไว้ให้คนจินตนาการเอาเอง

ขบวนแห่ส่างลอง
ขบวนแห่ส่างลองสวยงามมลังเมลืองไปด้วยสัปทนสีทองและชุดแต่งกายของส่างลองที่สวยงามอร่ามเรือง (ภาพ: พูวดล ดวงมี)

ส่างลองเองก็มี “ม้า” เหมือนกัน ม้าของส่างลองเรียกว่า “ตะแปส่างลอง” ซึ่งก็คือพี่เลื้ยงที่ร่างกายแข็งแรง คอยทำหน้าที่แบกส่างลองขึ้นคอระหว่างทางที่แห่โคหลู่จากวัดผาบ่องใต้ไปวัดผาบ่องเหนือ หลายต่อหลายครั้งตะแปส่างลองนึกสนุก พากันโยกขยับไปตามจังหวะเสียงกลอง เสียงฆ้อง สร้างความสนุกสนานเร้าใจให้ส่างลองและคนร่วมขบวนแห่  ส่วนข้าง ๆ ส่างลองมีสัปทนสีทอง หรือ “ทีคำ” หน้าตาเหมือนร่มจีบของพม่า เอาไว้บังแดดให้ส่างลอง ลองนึกถึงกลดสีเหลืองทองหลาย ๆ คัน มาเบียดเสียดอยู่ในริ้วขบวนร่วมกับส่างลองที่แต่งตัวเหมือนเจ้าชายในสมัยโบราณ สวยงามแปลกตาเหมือนหลุดออกมาจากอดีตกาล

ขบวนแห่โคหลู่จบลงที่วัดผาบ่องเหนือ พ่อแม่และญาติสนิทพาส่างลองขึ้นไปถวายเครื่องไทยทานให้พระสงฆ์บนศาลาการเปรียญ

ด้านล่าง รอบ ๆ ศาลา ชาวไทใหญ่ยังสนุกกับการฟ้อนรำ โยกขยับไปตามท่วงทำนองเร้าอารมณ์ของฆ้อง กลอง และฉาบ ก่อนที่ความสงบจะเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันที่สี่ของงานปอยส่างลอง วันที่ชาวไทใหญ่บ้านผาบ่องจะได้เห็นเณรน้อยห่มผ้าเหลือง

“คนไทใหญ่ให้ความสำคัญกับการบวชเณร หรือบวชลูกแก้วมากกว่าการบวชพระ เพราะเด็ก ๆ ที่บวชเณรอายุยังน้อยและไม่มีมลทินด่างพร้อยเหมือนผู้ใหญ่”

–  โสภิณ แก่นตัน

คงเป็นเรื่องบังเอิญที่ดอกเอื้องคำผลิบานในช่วงเดียวกับประเพณีบวชลูกแก้ว ที่บังเอิิญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สีของดอกเอื้องคำเหมือนกับสีของผ้าจีวรที่ห่มกายสามเณร หรือหน่อน้อย ๆ ของพระพุทธเจ้า ทั้งเอื้องคำและส่างลองต่างช่วยสร้างสีสัน เพิ่มความรื่นรมย์ให้ช่วงฤดูร้อนของแม่ฮ่องสอน


ปอยส่างลอง

อำเภอปายจัดงานปอยส่างลอง ระหว่างวันที่ 9-13 เมษายน 2562 ที่วัดศรีดอนชัย ซึ่งน่าจะเป็นงานปอยส่างลองงานสุดท้ายในปีนี้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยวันแห่เครื่องไทยธรรม (โคหลู่) คือวันที่ 12 เมษายน 2562 เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป