ความทรงจำของผม ที่ได้จากการเดินทางในอิหร่านไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ ไม่ใช่นายพลคาเซม สุไลมานี แต่เป็นผู้หญิงและดอกไม้
หญิงชาวอิหร่านต่างวัย 2 คน กับดอกไม้แห้งนานาพรรณ
เราพบกันใน Toton Forosh’ha Bazaar ตลาดสดขายดอกไม้แห้งในละแวกพระราชวังโกเลสถาน (Golestan Palace) หรือพระราชวังสวนกุหลาบ กลางกรุงเตหะราน
คนอิหร่านจำนวนมาก รวมทั้งนักท่องเที่ยวมักแวะมาที่ตลาดแห่งนี้ เพื่อหาซื้อของที่ขึ้นชื่อมากที่สุดอย่างหนึ่งในอิหร่าน นั่นคือดอกไม้แห้ง เพื่อนำไปชงกับน้ำร้อน ดื่มรักษาอาการเจ็บป่วย ช่วยบำรุงสุขภาพ แน่นอนว่าตลาดแห่งนี้เต็มไปด้วยดอกไม้แห้ง ตั้งแต่กุหลาบที่เราคุ้นเคย ไปจนถึงดอกไม้ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
ที่นี่ มีชาวอิหร่านหลากหลายกลุ่ม เดินพลุกพล่าน ปะปนกันทั่วตลาด สำหรับนักท่องเที่ยว ทุกย่างก้าว ทุกมุมของตลาด น่าตื่นตาตื่นใจ อดไม่ได้ที่จะต้องยกกล้องออกมาถ่ายรูป
“Does the flower have a name? – ดอกไม้นี้มีชื่อไหมครับ” ผมถามหญิงชราร่างเล็ก ที่กำลังเดินเลือกหาดอกไม้แห้งกับหญิงสาว อายุรุ่นหลาน
หญิงชาวอิหร่านต่างวัยทั้ง 2 คนใช้ผ้าโพกศีรษะ แต่ไม่ได้คลุมหน้ามิดชิด เผยให้เห็นดวงตาคมเข้มแบบคนตะวันออกกลาง ทั้งสองคนพากันหยุดชะงัก เปลี่ยนความสนใจจากดอกไม้แห้งมาที่ผม แต่ไม่ได้ตกใจกับชายชาวต่างชาติ ที่จู่ ๆ ก็เดินเข้ามาพูดคุยด้วย ผมคิดว่าหญิงชาวอิหร่านคงแปลกใจกับคำถาม
“ดอกไม้นี้มีชื่อไหม”
ถามแปลก ๆ ดอกไม้ทุกพันธุ์ย่อมมีชื่อ มีหลายชื่อมากกว่าคนเราอีกต่างหาก เพราะในแต่ละภาษา ชื่อของดอกไม้ก็เรียกไม่เหมือนกัน จริง ๆ แล้วผมอยากรู้ว่าดอกไม้ดอกสีม่วง ๆ ที่วางอยู่เต็มกระสอบป่านนั้นมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษไหม แต่พลั้งปากถามคำถามตลก ๆ ออกไปก่อน


หญิงชาวอิหร่านไม่ได้แสดงท่าทีไม่พอใจ ตรงกันข้ามหญิงสาวคนสวมฮิญาบ ผ้าคลุมศีรษะสีฟ้าสด เผยเห็นวงหน้าเข้มและดวงตาคมกริบจ้องมองที่ถุงพลาสติกใส่เมล็ดถั่วพิสตาชีโอสด ผูกห้อยต่องแต่งอยู่ที่หูกางเกงของผม เธอทำท่าเหมือนจะหัวเราะ แต่กลั้นเอาไว้หลังจากหันไปสบตากับหญิงชราที่ยืนอยู่ข้าง ๆ
“Gol gav …” สาวอิหร่านตาคม เอ่ยปากเป็นภาษาอังกฤษ 2 คำ ผมยังฟังไม่เข้าใจอยู่ดีได้แต่ยิ้ม เธอหันไปพูดกับหญิงชราซึ่งผมเดาว่าเขาพูดภาษาฟาร์ซีไม่นานเธอก็หันกลับมาหาผม พร้อมกับใช้นิ้วชี้ไปที่หัวของเธอ “It’s good for your head.”
“Good for my head? Okay. I take it. Thank you very much and have a nice day.” ชื่อดอกอะไรยังจำไม่ได้ แต่ฟังจับใจความว่าดีต่อกบาล ผมก็จัดมา 1 กิโลกรัม ตั้งใจจะชงกินทุกเช้าเมื่อกลับไปถึงกรุงเทพฯ ใครจะไปรู้ ปะเหมาะเคราะห์ดีดอกไม้สีม่วงเหมือนดอกอัญชันในเมืองไทย อาจทำให้เส้นผมบนกบาลผมกลับมางอกงาม ดกดำ หนวดเคราขึ้นเขียวครึ้มเหมือนหนุ่มอิหร่านเนี่ยน


- เชียงราย – ย้อนรอยสามเหลี่ยมทองคำ
- สกลนคร เมืองคนมือดำ
- เที่ยวนาโกย่า ชมตำนานโตโยต้า
- รถไฟฟ้า อาหารเจ ศิลปะ
ผมมีความสุขกับความคิดอยู่ได้ไม่นาน มาร์ดี่ กาฮ์เซเมียน (M้ahdi Ghasemian) ไกด์หนุ่มชาวอิหร่าน ก็เดินเข้ามาหาและไขความกระจ่างเรื่องดอกไม้ปริศนา พร้อมทั้งทำลายความหวังของผมที่จะได้ผมกลับมาดกดำเหมือนก่อน
ดอกไม้สีม่วงเข้มที่เห็นอยู่ในบาซาร์ คือดอก Gol Gav Zaban ฟังเสียงคล้าย ๆ “กอล เกฟ ซาบัน”
คนอิหร่านนิยมนำ กอล เกฟ ซาบัน ผสมกับกลีบกุหลาบแห้งไปชงน้ำร้อน ดื่มรักษาอาการหวัด ผ่อนคลายอารมณ์เครียด บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ ตับอักเสบ เรียกว่าสรรพคุณคับแก้ว แต่กลับไม่มีฤทธิ์ทำให้ผมขึ้นเต็มกบาลอย่างที่ผมมโนไปเองในตอนแรก เมื่อหญิงชราชี้ไปที่ศีรษะคงต้องการบอกว่า น้ำชาชงจากดอกกอล เกฟ ซาบันช่วยผ่อนคลายความเครียดได้


ชาวอิหร่านสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์โบราณ เก็บงำความรู้และประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นมาเกือบ 3000 ปี ก่อนที่โลกจดจำว่าพวกเขาเป็น “แขกขาว” ที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ บรรพบุรุษของอิหร่านคือคนเปอร์เซียนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ พวกเขาเคยมีอำนาจปกครองพื้นที่ในเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ก่อนจะแพ้สงครามต่อพวกอาหรับ แล้วถูกบังคับให้เปลี่ยนไปนับถืออิสลาม เลิกเลี้ยงหมาหันมาเลี้ยงแมว
เล่ากันว่าอิหร่านรู้จักพืชสมุนไพรมากกว่า 8,000 ชนิด ที่สามารถนำมาใช้รักษาอาการป่วยไข้ และบำรุงร่างกาย
คนอิหร่านไม่ค่อยเดือดร้อนมากนัก เมื่อประเทศเขาถูกประชาคมโลก (นำโดยอเมริกาเช่นเคย) ตัดสิทธิการค้าขายระหว่างประเทศ อิหร่านเนี่ยนไม่ต้องพึ่งพายาสมัยใหม่ คนส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องยาสมุนไพร ที่เก็บหาได้จากธรรมชาติ ลำพังแค่ดอกไม้ป่าที่นำมาชงดื่มกับน้ำร้อน มีให้เลือกมากมายกว่า 100 ชนิด หากใครเคยเดินเข้าไปในบ้านคนอิหร่านจะเห็นลานกว้างอยู่หลังบ้าน ที่เก็บเอาไว้สำหรับตากดอกไม้ รากไม้ สมุนไพร ต่าง ๆ
ชิกโครี (Chicory) ดอกไม้สีฟ้าอ่อน ๆ นำมาชงน้ำร้อน ดื่มบำรุงตับ
กุหลาบ ดอกอ่อนตากแห้งนำมาชงกับน้ำร้อน ได้เครื่องดื่มกลิ่นหอม รักษาผิวพรรณให้ผุดผ่อง ในเนื้อดอกกุหลาบมีสารยับยั้งแบคทีเรีย ช่วยลดอาการติดเชื้อและอาการอักเสบ
มาโจแรม (majoram) พืชตระกูลมิ้นท์ ญาติกับสะระแหน่ที่คนไทยกินกับลาบ ใช้ลดความเครียด คลายความกังวล
เพนนีรอยัล (pennyroyal) ญาติห่าง ๆ กับสะระแหน่เหมือนกันกับมาโจแรม ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่มน้อยเป็นยาระบาย รักษาอาการเจ็บคอ ท้องอืด ดื่มมากเป็นพิษต่อร่างกาย สาวกรีกในยุคโบราณใช้เพนนีรอยัลเป็นยาขับเลือด ตัดตอนตัวอ่อนในมดลูก ถึงตรงนี้ใครบางคนอาจนึกถึงบทเพลง “Pennyroyal Tea” ของเคิร์ต โคเบน นักร้องนำวง Nirvana แต่งเอาไว้ “Sit and drink pennyroyal tea/Distill the life that’s inside of me” ไม่รู้ว่าตอนที่แต่งเนื้อร้องในปี ค.ศ 1990 เคิร์ตคิดถึงใคร สาวกรีกโบราณ หรือคอร์ทนีย์ เลิฟ หรือปนเปกันไป


- “กิน เล่น นอน” วนไป ที่โอโซ่ ภูเก็ต
- โซเนวา ฟูชิ ยกระดับความหรูหรา ด้วยวิลล่ากลางน้ำ
- แม่ฮ่องสอน ศรัทธา และสีสัน
นอกจากนี้ ตลาด Toton Forosh’ha Bazaar ยังเต็มไปด้วยผลไม้อบแห้ง เช่น อินทผาลัม พุทรา แอพริคอต ลูกมะเดื่อ รวมทั้งถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ วอลนัต เกาลัด ที่พ่อค้าคุยว่าถั่วพวกนี้เป็นสินค้าคุณภาพสูง เดินทางมาจากซามาร์คันด์ เมืองเก่าแก่บนเส้นทางสายไหม ในประเทศอุซเบกิสถาน
ปกติผมเป็นคนชอบซื้อถั่วอบแห้งกลับบ้าน ถั่วนอกจากบำรุงสมอง ยังกินกับเบียร์ได้ดี เข้ากันเหมือนปี่กับขลุ่ย แต่วันนี้ผมเจอของที่น่าสนใจกว่าคือ เมล็ดถั่วพิสตาชีโอ (Pistachio) สด ที่ยังไม่ได้อบแห้ง เลยซื้อกลับบ้าน 1 กิโลกรัม ซื้อไว้ก่อน จะกินอย่างไร กลับถึงกรุงเทพฯค่อยว่ากัน
ผมเดินเลี่ยงไปทางด้านหลังตลาดสมุนไพร พบผู้ชายอิหร่านจับกลุ่ม ยืนล้อมวงคุยกันสนุกสนานอยู่รอบ ๆ ร้านชาร้อน พวกเขาพากันหัวเราะชอบใจ เมื่อได้เห็นถุงพิสตาชีโอ ผูกห้อยติดอยู่กับหูกางเกงของผม บางคนเข้าใจว่าผมเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน คนจีนทำอะไรก็ได้ คนจีนชอบดื่มน้ำชา

วัฒนธรรมดื่มชาข้างถนนของคนอิหร่านต่างจากคนจีน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่อินเดีย
พ่อค้าร้านชาชาวอิหร่านจะมีถุงต้มชา คล้าย ๆ ถุงผ้าสำหรับชงโอเลี้ยงในเมืองไทย แช่ไว้ในกาน้ำร้อนที่เดือดพล่านตลอดเวลา เมื่อมีใครต้องการชาร้อน พ่อค้าก็จะรินน้ำชาใส่จอกใบเล็ก พร้อมกับยื่นจานใบเล็ก ๆ อีกใบหนึ่งให้มาพร้อมกับกับน้ำตาลทราย 1 ก้อน ผมมองจอกชา จาน และน้ำตาลสลับกันไปมา เพื่อชั่งใจว่าจะดื่มอย่างไร สุดท้ายผมหยิบก้อนน้ำตาลขึ้นมา เตรียมใส่จอกชา
“No. No.” คนอิหร่านยกมือห้าม หัวเราะลั่นเมื่อเห็นผมกำลังจะหย่อนก้อนน้ำตาลลงในจอกชา เพื่อนคนหนึ่งที่ยืนอยู่ข้าง ๆ แสดงให้ดูว่าการดื่มชาของอิหร่านเขาทำกันอย่างไร เขาค่อยๆ เทน้ำชาในจานกระเบื้องใบเล็ก รอให้อุณหภูมิลดลงพอดื่มได้ แล้วค่อย ๆ ยกละเลียดจนหมด จากนั้นก็ขบน้ำตาลกินนิดหนึ่งเพื่อให้รสหวานตัดความฝาดของน้ำชา
นี่คือวิถีของเปอร์เซียที่ผมพบในบาซาร์ ทุกคนล้วนแสดงท่าทางเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวไม่ว่าคุณจะหันหน้าไปหาใคร